พ่อหลวงสอนใว้...พอเพียง คือ ความพอดี ของชีวิต

พ่อหลวงสอนใว้...พอเพียง คือ ความพอดี ของชีวิต
ขอให้พระคุ้มครองคนทำความ...ดี

วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2554

20 ปีคดีอัปยศ จากหัวใจ....แม่...เพื่อ...ลูก...


20 ปีคดีอัปยศ  จากหัวใจ....แม่...เพื่อ...ลูก...

    "อีกเจ็ดวันครบ 20 ปี ที่แม่อย่างฉันตามหาความเป็นธรรมให้ลูกที่ได้รับความเสียหายจากการทำคลอดของรพ.พญาไท จนถึงวันนี้ก็ยังไม่สำเร็จ แต่ฉันไม่ได้สู้เพื่อลูกเท่านั้นฉันสู้เพื่อผู้คนในสังคมจะได้ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อเหมือนครอบครัวฉันอีก"
       ปรียนันท์...เป็นหญิงท้องแรก ฝากครรภ์กับสูตินรีแพทย์ของรพ.พญาไท พบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ เมื่อเจ็บท้องคลอดเธอไปโรงพยาบาล แพทย์ติดดูแลคนไข้อื่น และสั่งให้ยาเร่งคลอดทางโทรศัพท์โดยไม่มาตรวจครรภ์ เมื่อใช้ยาเร่งคลอดไม่ได้ผลแพทย์พยายามช่วยคลอดด้วยการใช้เครื่องดูดดึงแต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากเด็กอยู่ในท่าผิดปกติคือหงายหน้าออก(OPP) หลังผ่าตัดทำคลอด เด็กมีน้ำหนักมากถึง 4,050 กรัม บริเวณท้ายทอยมีรอยบวมน่วมก้อนโตที่เกิดจากการใช้เครื่องดูด
            หลังคลอดเด็กตัวเหลืองมากส่องไฟไม่ลด กุมารแพทย์เปลี่ยนถ่ายเลือดผ่านสาย สะดือ เกิดการติดเชื้อ มีไข้สูง สะดือแฉะมีหนองสีเหลือง ร้องกวนมาก น้ำหนักลดอย่างต่อเนื่อง ตรวจพบเม็ดเลือดขาวสูงมาก แต่แพทย์มิได้ให้ยาปฏิชีวนะ มีการเจาะเลือดเพื่อเพาะเชื้อ แต่ไม่ทันทราบผลก็จำหน่ายเด็กออกจากโรงพยาบาล  การติดเชื้ออย่างรุนแรงโดยไม่มีการดูแลรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที ทำให้ ข้อสะโพกซ้ายของเด็กติดเชื้ออย่างรุนแรงถูกเชื้อโรคทำลายจนสลายไป กลายเป็นความทุกข์ทรมานและเป็นปัญหาเรื้อรังของเด็กไปตลอดชีวิต
            ปรียนันท์ฯ......อุ้มลูกกลับไปขอความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลหลายครั้ง แต่ถูกปฏิเสธ อ้างว่าลูกของเธออาจติดเชื้อจากที่ใดก็ได้คนเราเป็นหวัดก็ติดเชื้อไวรัสจาก อากาศ จะช่วยรักษาให้แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายปกติ จะลดให้บ้างเพื่อเห็นแก่มนุษยธรรม แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นการรับผิด เพราะไม่ได้ทำผิดพลาด ใด ๆ เธอจึงอุ้มลูกกลับบ้านด้วยความช้ำใจ
          น้องเซ้นต์......เจ็บปวดทุกข์ทรมานจากการผ่าตัดหลายครั้ง ปรียนันท์ฯ ทุ่มเทค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาลูกจำนวนมาก จนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว ก็ไม่สามารถแก้ไขเยียวยาความเสียหายได้ ปัจจุบันลูกของเธอข้อสะโพกซ้ายไม่มี ขาสองข้างไม่เท่ากัน เดินกระเผลก นั่งขัดสมาธิไม่ได้ หลังคดปวดขาทุกคืน ข้อแขนซ้ายถูกทำลายและมีร่องรอยของกระดูกต้นแขนหัก สั้นและอ่อนแรงกว่าแขนขวา แกว่งแขน 360 องศาไม่ได้บริเวณท้าย ทอยมีรอยเครื่องดูดและผมขึ้นน้อย หลังอายุ 20 ปี ต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมทุก 10 ปี การเคยติดเชื้อในกระดูกทำให้การผ่าตัดมีความเสี่ยงสูงกว่าคนปกติ ข้อเทียมที่เหมาะสม ต้องทำจากไทเทเนียมและเซรามิคซึ่งมีราคาสูงมาก และสิทธิบัตรทองไม่ครอบคลุม
                 วิบากกรรม...ของการต่อสู้
ปรียนันท์ฯ ร้องเรียนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย รวมทั้งดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ เจ้าของโรงพยาบาลซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในสมัยนั้น แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง เมื่อขอคัดถ่ายสำเนาเวชระเบียนเพื่อนำไปรักษาลูก ก็ถูกท้าทายให้นำทนายความไปฟ้องเอา

ฟ้องโรงพยาบาลพญาไท 1
ปรียนันท์ฯฟ้องรพ.พญาไท 1และแพทย์ผู้รักษา เป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย ระหว่างนั้นดร.อาทิตย์ฯ เจ้าของรพ.เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต่อมากิจการรพ.พญาไท 1 ถูกเปลี่ยนมือบริหารโดยนายวิชัย ทองแตง (ทนายความคดีซุกหุ้ของดร.ทักษิณ ชินวัตร) เธอใช้เวลาต่อสู้คดีนานถึง 9 ปี ศาลชั้นต้น, อุทธรณ์และฎีกา พิพากษายกฟ้องเพราะคดีหมดอายุความทางแพ่งหนึ่งปี (เหตุเกิดปี2534 ยื่นฟ้องปี 2539 รอมติแพทยสภา) แม้จะต่อสู้ว่าเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องอาญา เนื่องจากลูกของเธอได้รับอันตรายสาหัสจนถึงขั้นพิการ ต้องนับอายุความทางอาญาที่ยาวกว่าคือ 10 ปี แต่ศาลฎีกาให้เหตุผลว่าเธอบรรยายฟ้องไม่ครบองค์ประกอบคดีอาญา นับอายุความที่ยาวกว่าไม่ได้ จึงพิพากษายืน (คดีสิ้นสุดแล้ว) คดีนี้เธอถูกยึดค่าธรรมเนียมศาลละสองแสนบาท ถูกศาลปรับให้จ่ายค่าทนายให้รพ.พญาไท 1 อีก 1 แสนบาท ทำให้เธอถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว เนื่องจากต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาลูกอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

ระหว่างนั้นคณะกรรมาธิการการสาธารณสุขสภาผู้แทนราษฎร ชี้ว่าเป็นความผิดพลาดของโรงพยาบาล แต่โรงพยาบาลอ้างว่าศาลตัดสินว่าโรงพยาบาลไม่ผิดจึงไม่ยอมเจรจา ทั้งที่ศาลตัดสินว่าคดีหมดอายุความ ยังไม่ได้พิสูจน์ถูกผิด 
         (ปัจจุบันรพ.พญาไท1 เปลี่ยนเจ้าของเป็นของนพ.ปราเสริฐ ประสาททองโอสถ เจ้าของรพ.กรุงเทพฯ และสายการบินบางกอกแอร์เวย์)
          ถูกฟ้องกลับ 100 ล้าน   เมื่อ ใช้กฎหมายไม่เป็นผล ปรียนันท์ฯ ไปถือป้ายประท้วงที่หน้าโรงพยาบาลคู่กรณี พร้อมให้สัมภาษณ์สื่อทั้งวิทยุ,หนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ เป็นเหตุให้คู่กรณี(สมัยนายวิชัย ทองแตงบริหาร) ฟ้องเธอ 2 คดีทั้งทางแพ่งและอาญา ข้อหาละเมิดและหมิ่นประมาทเรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท 

คดีอาญา
 ใช้เวลาต่อสู้นาน 5 ปี ศาลชั้นต้นและอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องคำพิพากษาระบุว่า เห็นว่าจำเลยได้ยื่นร้องเรียนตามสิทธิข้อกฎหมาย เป็นการแสดงเพื่อความสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันผลกระทบด้านความปลอดภัยของชีวิตและครอบครัวการกระทำของจำเลยจึงไม่มีมูลความผิด” (คดีสิ้นสุดแล้ว)
        คดีแพ่ง 
รพ.พญา 1 ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเธอ 100 ล้านบาทใช้เวลาต่อสู้นาน 7 ปี ศาลชั้นต้นและอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง คำพิพากษาระบุว่า เห็นว่าคำกล่าวของจำเลย เป็นการกล่าวไปตามความเข้าใจเพื่อความชอบธรรมและปกป้องสิทธิตามครองธรรม จึงไม่เป็นการละเมิด พิพากษายืนคู่กรณียื่นฎีกา (คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา)
       เกี่ยวกับคดีนี้
1.คู่กรณีร้องขอให้ศาลออกคำสั่งปิดปากเธอไม่ให้ออกสื่อ มีการไต่สวนและออกคำสั่งลับหลังโดยเธอไม่ได้ไปศาลทนายฝ่ายรพ.พญาไท 1 แถลงว่าส่งหมายแล้วเธอไม่มาศาลทั้งที่หมายไม่เคยออกจากศาล  เธอขอให้ศาลยกเลิกคำสั่งเดิมขอให้มีการไต่สวนใหม่ ศาลยกเลิกคำสั่งเดิมที่มิชอบด้วยกฎหมายและให้ไต่สวนใหม่แต่ก็ออกคำสั่งปิดปากเหมือนเดิม 
2.คู่กรณีฟ้องเรียกค่าเสียหาย100ล้านบาท ศาลให้เธอชนะแต่ไม่สั่งให้รพ.พญาไท1 จ่ายค่าทนายให้ฉันแม้แต่บาทเดียว  ช่างต่างกับคดีที่เธอฟ้องรพ.57 ล้านเมื่อศาลยกฟ้อง ศาลสั่งให้เธอจ่ายค่าทนายให้รพ.ตั้งหนึ่งแสนบาท ทั้งที่คกก.สิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีมติว่ารพ.ผิด
        ปรียนันท์....ไม่ยอมถอย
เมื่อถึงทางตันกับคำว่า หมดอายุความแต่การละเมิดสิทธิเด็กยังคงอยู่ ปรียนันท์ฯ ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ที่มีมติอย่างตรงไปตรงมาว่า
(1)  แพทย์ผู้ทำคลอดและกุมารแพทย์ของโรงพยาบาลพญาไท1 ประมาทเลินเล่อรวมทั้งโรงพยาบาลพญาไท 1 ไม่มีมาตรการแก้ไขเยียวยา จึงก่อให้เกิดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงให้ช่วยเหลือเยียวยา ทันที (แต่รพ.พญาไท 1 เพิกเฉยไม่ทำตามมติ)
(2)  กระบวนการตรวจสอบของแพทยสภาไม่เป็นธรรมต่อผู้ร้องให้รื้อฟื้นเรื่องขึ้น พิจารณาใหม่ภายใน 30 วัน (กระทรวงสาธารณสุข ยุคนายไชยา สะสมทรัพย์ ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า แพทยสภาไม่มีอำนาจในการรื้อคดีใหม่ โดยแพทยสภาได้เข้าชี้แจงเพียงฝ่ายเดียว)
         กสม.ก็ไม่ยอมถอย
เมื่อกสม.ไม่สามารถบังคับให้รพ.พญาไท 1 และแพทยสภาให้ทำตามมติได้ จึงรายงานนายกรัฐมนตรี (นายสมัคร สุนทรเวช) ให้มีบัญชาภายใน 60 วัน แต่นายสมัครฯไม่มีบัญชา (พี่สาวของนายสมัครฯ เป็นกรรมการแพทยสภาชุดที่ปรียนันท์ฯ ฟ้อง)
           กสม.จึงเดินหน้ารายงานต่อประธานรัฐสภาและวุฒิสภา เรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรนาน 4 ชั่วโมงในสมัยรัฐบาลนายสมชาย วงษ์สวัสดิ์ ซึ่ง นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตั้งกรรมการไกล่เกลี่ยเสนอให้เธอรับเงิน 5 แสนบาทและให้ยุติเรื่อง แต่เธอขอให้คู่กรณีแสดงความเสียใจและขอโทษต่อเหตุการณ์ที่ผ่านมาเสียก่อน แล้วค่อยพูดถึงการเยียวยาแต่คู่กรณีปฏิเสธ
          ขณะที่รัฐบาลให้เหตุผลว่านอกเหนือวิสัยที่รัฐจะเข้าไปแทรกแซงได้ เนื่องจากเป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับโรงพยาบาลเอกชน
         ฟ้องแพทยสภา
เธอร้องเรียน แพทยสภา เรื่องเงียบนานเกือบ 3 ปี พอเธอยื่นฟ้องโรงพยาบาล แพทยสภาก็รีบมีมติว่าเรื่องของเธอเป็นคดีไม่มีมูลโดย ไม่เคยเรียกเธอชี้แจง และละเว้นไม่สอบสวนนพ.สุรพงษ์ อำพันวงศ์ ผอ.โรงพยาบาลที่นั่งออกรายการทีวีคู่กับพญ.ประสบศรี อึ้งถาวร รองเลขาธิการแพทย สภาผู้เซนต์มติรวมทั้งคู่กรณีทำรายงานเท็จขัดต่อข้อเท็จจริงในเวชระเบียน
          ความไม่ชอบมาพากลทำให้ปรียนันท์ร้องขอให้แพทยสภารื้อคดีใหม่ แต่แพทยสภายกคำร้องไม่รื้อคดีใหม่ แม้จะมีกรรมการสองท่านให้ความเห็นแย้งว่าคดีมีมูล” และการวินิจฉัยมีความล่าช้าไม่ทันท่วงทีก็ตาม มิหนำซ้ำยังมีนพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ กรรมการแพทยสภาเสนอให้ลบรายงานการประชุมส่วนที่มีความเห็นแย้งออกด้วย

เธอจึงฟ้องแพทยสภาทั้งคณะ 33 คน เป็นคดีอาญามาตรา 157 ฐานละเว้นและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ศาลใช้เวลา 6 ปีในการไต่สวนมูลฟ้อง ศาลชั้นต้น, อุทธรณ์และฎีกาพิพากษาไม่รับฟ้อง
           คำพิพากษาระบุว่า“..แม้จะเป็นความจริงว่าเป็นการช่วยเหลือแแพทย์ผู้ถูกร้องไม่ให้ถูกลงโทษ ก็มิได้ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือกระทบกระเทือนสิทธิ์ในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนโดยตรงแต่ประการใด โจทก์ทั้งสองไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้องแพทยสภาทั้ง 33 คน

ปรียนันท์ฯเลือกไม่ดำเนินคดีอาญา ต่อแพทยสภาอีก เนื่องจากคณะกรรมการสิทธิฯ มีมติแล้วว่า แพทยสภาผิด สังคมรับรู้แล้วว่าแพทยสภาผิด เธอไม่ประสงค์จะให้ใครติดคุก เพียงแค่ต้องการปรามไม่ให้แพทยสภาทำกับคนอื่นในสังคมอีก ต่กลับเป็นเหตุให้แพทยสภานำคดีนี้เป็นบรรทัดฐาน ต่อสู้กับผู้เสียหายที่ฟ้องแพทยสภาเป็นคดีอาญา แทบทุกคดี
          ความเสียหายใหม่
ต่อมาในปี2551เมื่อน้องเซ้นต์อายุได้ 17 ปี มีอาการปวดหลังร้าวลงไปที่ขาอย่างรุนแรง หลายครั้งไม่สามารถนอนหลับลงได้ ผลการตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์เมื่อ 14 มิ.ย. 51 พบว่า กระดูกสันหลังเคลื่อน โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ หมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับไขสันหลังและเส้นประสาทเป็นความเสียหายใหม่ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากความเสียหายเดิม

ศาลคือที่พึ่งสุดท้าย..อีกครั้ง
ปี 2551 ประเทศไทยมีกฎหมายใหม่ พรบ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551” มาตรา 13 บัญญัติว่า
ในกรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ หรืออนามัย...เป็นกรณีที่ต้องใช้เวลาใการแสดงอาการ ผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภค ต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในสามปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย ....

19 พ.ค. 52 
ปรียนันท์ฯ ฟ้องรพ.พญาไท เป็นคดีผู้บริโภค ทางรพ.พญาไท 1 (ยุคนายวิชัย ทองแตง) ไม่ประสงค์เจรจาไกล่เกลี่ย และต่อสู้โดยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดว่าเป็นคดีฟ้องซ้ำและหมดอายุความ

28 ก.ค. 52
  ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องว่า ฟ้องซ้ำและหมดอายุความขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์  โดยกรมคุ้มครองสิทธิฯ กระทรวงยุติธรรมช่วยดูแลเรื่องคดีความ

กว่า 20 ปี ที่แม่อย่างฉันอดทนต่อสู้หาความเป็นธรรมให้กับลูก เพราะเชื่อตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดว่า สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับการคุ้มครองแต่จนถึงทุกวันนี้ผู้บริโภคอย่างฉันกับลูกไม่เคยได้รับการคุ้มครอง  มีแต่ต้องดิ้นรนช่วยเหลือตนเองแทบทั้งสิ้น

ฉันร้องเรียนหลายหน่วยงานทุกวิถีทาง แต่ไม่มีเส้นทางไหนเข้าถึงความยุติธรรมได้เลยเพราะระบบเส้นสายอุปถัมภ์ที่มีอยู่จริงในบ้านเมืองเป็นอุปสรรค  หลายครั้งฉันรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง  แต่ก็ไม่เคยถอยให้กับความไม่ถูกต้อง จนทุกวันนี้ถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำเพื่อสังคมส่วนรวม  มากกว่าเรื่องลูกซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัว ฉันอดทนต่อสู้จนผู้คนในสังคมบางคนตราหน้าว่าฉันนั้น บ้า โง่ ตลก ทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้  แต่ฉันกลับเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากเป็นการร่วมมือกันรังแกประชาชน ของอำนาจรัฐ อำนาจตุลาการ ถ้าปล่อยเรื่องนี้หลุดรอดการตรวจสอบ  ต่อไปชาวบ้านจะอยู่กันได้อย่างไร  ทุกคนมีเจ็บไข้ได้ป่วยกันทุกวัน  หมอก็มีผิดพลาดทุกวัน   แล้วประชาชนที่ไม่มีเส้นสายจะหาความเป็นธรรมได้จากใคร

โรงพยาบาลพญาไท 1 และแพทยสภา คงไม่รับรู้ว่าท่านได้ทำบาปทำกรรม   ทำลายครอบครัวที่บริสุทธิ์ครอบครัวหนึ่งจนพังพินาศสิ้นเนื้อประดาตัว ชีวิตครอบครัวเหมือนแพแตก แยกไปคนละทิศละทาง สามีฉันบากหน้าไปทำงานขายแรงงานที่ต่างประเทศ เพื่อหาเงินมาไว้รักษาลูกในอนาคต แต่ก็ไปได้รับอุบัติเหตุตกจากหลังคาที่ไปรับจ้างซ่อม จนกระดูกสันหลังหัก ยังต้องรักษาตัวอยู่อย่างต่อเนื่อง  (ปัจจุบันสามีกลับมาอยู่กับครอบครัวแล้ว  แต่ก็ทำงานหนักไม่ได้ เพราะปวดและหลังแข็ง บ่อย ๆ ในอนาคตก็ไม่รู้จะเป็นอย่างไร)

แม้จะแบกรับเรื่องส่วนตัวและเรื่อง ส่วนรวมหนักเพียงใด แต่ฉันก็ยืนหยัดที่จะสู้ เพียงเพื่ออยากเห็นความถูกต้อง และอยากเห็นวงการแพทย์ วงการศาล มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น  ฉันรู้ว่าไม่มีแพทย์คนไหนตั้งใจทำพลาด แต่ในเมื่อพลาดแล้วควรจะรับผิดชอบช่วยเหลือดูแลเยียวยาผู้เสียหายบ้าง  ไม่ใช่ปัดความรับผิดชอบไม่พูดคุยปล่อยให้เผชิญชะตากรรม    เห็นชาวบ้านไม่มีความรู้ก็ท้าทายให้ฟ้อง   มิหนำซ้ำยังอาศัยความเหนือกว่าทุกด้านรังแก และยืมมือกฎหมายฟ้องกลับ ทำให้ผู้เสียหายต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการสู้คดีหนักเข้าไปอีก 

ฉันคือคนที่นอนอยู่กับปัญหามาอย่างยาวนาน จนหมอบางคนเรียกฉันว่า"นางปีศาจร้ายวงการแพทย์" ขอทำนายอนาคตของสังคมไทยว่า  หากขืนปล่อยให้สังคมมีความเหลื่อมล้ำเช่นนี้ต่อไป ความเป็นธรรมไม่มี สันติสุขไม่มีวันเกิดขึ้นอย่างแน่นอน” 

ฉันขอฝากไปถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการแพทย์ว่า  ขอให้แก้ไขในสิ่งผิด ขอให้เป็นสุภาพบุรุษสุภาพสตรี หยุดการกล่าวให้ร้ายฉันว่าเป็นคนคุยไม่รู้เรื่อง ต่อสู้ด้วยความอาฆาตแค้น ปล่อยให้ลูกเดินกระเผลกเพื่อเรียกร้องความสนใจ  ต้องการฟ้องร้องเพื่อให้ได้เงินเยอะ ๆ หรือไม่ตัดรองเท้าให้ลูกใส่  ที่ผ่านมารพ.พญาไท 1 ไม่เคยรับผิดชอบใด ๆ ทิ้งภาระให้ฉันเสียค่ารักษาผ่าตัด ดูแลลูกจนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว  เอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ลูกทุกปีล่าสุดหมดไป 36,000 บาท  และทำพื้นรองเท้าเสริมด้านใน 4,800 บาท(เสริมด้านนอกสูงมากเดินแล้วเท้าพลิก) ค่าใช้จ่ายในการทำกายภาพบำบัดอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง และอื่น ๆ อีกมากมาย ขอให้หยุดทำร้ายครอบครัวฉันเสียที  และปีนี้ลูกฉันอายุครบ 20 ปีต้องได้รับการผ่าตัดใส่ข้อสะโพกเทียมแล้ว ใครจะยื่นมือเข้ามาแก้ไขในสิ่งผิด  หากวงการแพทย์ไทยนิ่งเฉยฉันก็จะดิ้นรนทางอื่นต่อไป

ทุกขั้นตอนการต่อสู้มีความอัปยศอดสูที่ฉันได้บันทึกเอาไว้อย่างละเีอียด โปรดเข้าไปอ่านต่อได้ที่  http:/www.thai-medical-error.blogspot.com หรือคลิกเข้าไปอ่านหนังสือที่ฉันเขียน "นางปีศาจร้ายในสายตาหมอ" ได้ที่นั่นเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น