พ่อหลวงสอนใว้...พอเพียง คือ ความพอดี ของชีวิต

พ่อหลวงสอนใว้...พอเพียง คือ ความพอดี ของชีวิต
ขอให้พระคุ้มครองคนทำความ...ดี

วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2554

ขอสนับสนุนขับเคลื่อนให้ความรู้ เรื่อง แร่ใยหิน” มีสารก่อมะเร็ง


 ผ้าเบรค..ไร้ใยหิน     ปลอดสารก่อมะเร็ง
       ชลบุรี : สวทช. หนุนบริษัทคอมแพ็คฯ สร้างนวัตกรรม ผ้าเบรกไร้ใยหินรณรงค์เลิกใช้ผ้าเบรกแร่ใยหิน เพราะมีสารก่อมะเร็ง นำร่องแห่งแรก ติดตั้งรถสองแถวใน เมืองพัทยากว่า 700 คัน มูลค่ากว่า 4 ล้านบาท พร้อมขยายสู่พื้นที่ท่องเที่ยวทั่วประเทศ หวังลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม
        
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ร่วมกับ บริษัท คอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด จัดงาน "กรีน พัทยา บาย คอมแพ็ค" (Green Pattaya by Compact) โปรโมท นวัตกรรม เพื่อสิ่งแวดล้อม ผ้าเบรกไร้ใยหิน ณ ลานกิจกรรมหน้าห้างเซ็นทรัลเฟสติวัล พัทยา บีช เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 54 ที่ผ่านมา
          ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รมว.วท. กล่าวว่า นวัตกรรม ผ้าเบรกไร้ใยหิน เป็นเทคโนโลยีที่ บริษัท คอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด ได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมไทย (ไอแท็ป : ITAP) สวทช. ให้สามารถพัฒนาออกแบบ และปรับปรุงสูตรการผลิต จนสามารถผลิตจริงในโรงงาน โดยคุณภาพของผลิตภัณฑ์อยู่ในระดับเทียบเท่าสูตรผ้าเบรกของผู้ผลิตชิ้นส่วน ที่ส่งโรงงานประกอบรถยนต์โดยตรง หรือ โออีเอ็ม (Original Equipment Manufacturer : OEM) ซึ่งปัจจุบัน บ.คอมแพ็คฯ ได้เพิ่มยอดขาย ในฐานะผู้ผลิตผ้าเบรกให้กับบริษัทรถยนต์ชั้นนำ
            ดร.วีระชัย กล่าวว่า ทางโครงการได้ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่น เข้ามาถ่ายทอดเทคโนโลยีวัตถุดิบไร้ใยหิน (NON Asbestos Organic : NAO) ให้กับบริษัท นำไปใช้พัฒนาการออกแบบ พร้อมกับพัฒนาปรับปรุงสูตรการผลิต จนได้คุณสมบัติตามความต้องการ และสามารถนำสูตรดังกล่าวมาผลิตจริงในโรงงานได้ อันเป็นประโยชน์กับสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกระแสที่กำลังได้รับการกล่าวถึงอย่างมาก ในสังคมไทยและสังคมโลก
        นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองพัทยา กล่าวว่า หาก ทุกคนยังใช้ผ้าเบรกที่มีแร่ใยหินนั้น จะทำให้มีละอองฝุ่นสีดำ เกิดการปนเปื้อนในอากาศ เมื่อสูดดมเข้าร่างกายจะเป็นผลร้าย ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ตามมา   (ซึ่งทั่วโลกได้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินแล้ว)
       ทั้งนี้ การใช้นวัตกรรม ผ้าเบรกไร้ใยหิน นั้นจะทำให้ลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม และเป็นผลดีต่อสุขภาพ นายอิทธิพลจึงได้ประชุมร่วมกันกับรถสองแถว ในเมืองพัทยา เพื่อใช้ผ้าเบรกไร้ใยหิน ลดฝุ่นละออง ที่เกิดจากผ้าเบรกใยหิน นับเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับเมืองพัทยา อีกทั้ง อาจจะขยายจากรถสองแถว ไปยังรถของพี่น้องประชาชน รถทัวร์ รถบัส ที่บริการรับนักท่องเที่ยวต่อไป
        “หากปฏิบัติได้ทั้งเมืองพัทยา - บางแสน  ถือเป็นเรื่องดี และเป็นจุดขายของเมืองพัทยา-บางแสน  ในด้านของการรักษาสิ่งแวดล้อม แม้อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ มีรถไม่กี่ร้อยคัน แต่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้น เป็นตัวอย่างในการปฏิบัติตามสำหรับคนในประเทศอีกด้วยนายอิทธิพล กล่าว
        ขณะ นี้ได้เริ่มต้นนำผ้าเบรกไร้ใยหิน มาใช้กับรถสาธารณะในเมืองพัทยากว่า 300 คัน จากทั้งหมดกว่า 700 และจะดำเนินการให้ครอบคลุมทั้งหมดต่อไป
         อย่างไรก็ดี ดร.วีระชัย บอกว่า การจัดกิจกรรมสนับสนุนผ้าเบรกไร้ใยหิน เพื่อใช้กับรถรับจ้างสาธารณะในเมืองพัทยา ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของประเทศไทยที่ได้รับการกล่าวถึงไป ทั่วโลก จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ในการลดผลกระทบด้านมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะส่งผลดีต่อธุรกิจ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแนวทางนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
       
       ที่สำคัญโครงการดังกล่าว จะต่อยอดไปยังสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร แต่อาจจะทำได้บางส่วน เนื่องจากรถสาธารณะมีเป็นจำนวนมาก
รมว.วท.จึงอยากให้ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อสังคม
       ทางด้าน นายเกษม อิสระพิทักษ์กุล รองกรรมการผู้จัดการ บ.คอมแพ็คฯ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ผ้าเบรกไร้ใยหินนี้ มีประสิทธิภาพ สร้างความปลอดภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อต้องการตอบสนองความต้องการของลูกค้า ทั้งยังมุ่งหวังจะสร้างสมดุลทางสังคมและสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง บริษัท สามารถผลิตผ้าเบรกไร้ใยหิน จนได้รับรางวัล "ไอแท็ป อะวอร์ด" (ITAP Award) ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมยอดเยี่ยม (Best Green Product Development) จาก สวทช.
                                                           ****************
                                   แร่ใยหิน  เป็นสารอันตรายก่อให้เกิดโรคมะเร็ง 
                                                 แร่ใยหิน  อีกหนึ่งภัยใกล้ตัวที่ต้องระวัง!!
                 
ทุกวันนี้คนไทยต้องดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงจากมลพิษทาง สิ่งแวดล้อมจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นภัยใกล้ตัวที่สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกายของเรา โดยที่เราอาจไม่รู้ตัวเลย!!!
           "แร่ใยหิน"
หรือ "แอสเบสทอส" (Asbestos)  ก็ถือเป็นหนึ่งในภัยใกล้ตัวที่คนไทยน้อยคนที่จะรู้จักถึงพิษภัยของมัน ที่สามารถคร่าชีวิตของคนเราได้ หากสูดหายใจเอาแร่ใยหินเข้าไปสะสมในร่างกายเป็นปริมาณมาก
                   ที่บอกว่าเป็นภัยใกล้ตัวก็เนื่อง จากว่า "แร่ใยหิน" ได้ถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมต่างๆ มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมประเภทซีเมนต์ อุตสาหกรรมผ้าเบรก ผ้าคลัตช์ อุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าป้องกันไฟหรือความร้อน อุตสาหกรรมกระดาษอัด และอุตสาหกรรมประเภทพลาสติกที่มีแอสเบสทอสเป็นส่วนประกอบ ฯลฯ
                   ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่คนไทยได้ใช้กัน อยู่บ่อย ๆ ก็คือ กระเบื้องมุงหลังคาแบบลอนลูกฟูก ท่อระบายน้ำ  กระเบื้องปูพื้น ฝ้าเพดาน ฝาผนัง ฉนวนกันความร้อน ผ้าเบรก ผ้าคลัตช์รถยนต์ ท่อน้ำร้อน หม้อไอน้ำ พลาสติกขึ้นรูปต่าง ๆ  ไดเป่าผม  ฯลฯ
                  ทั้งนี้แร่ใยหิน แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ แอมฟิโบล และเซอร์เพนไทน์ โดยกลุ่มแอมฟิโบล ยังแบ่งย่อยออกได้เป็น 5 ชนิด ได้แก่ ครอซิโดไลท์, อะโมไซท์, ทรีโมไบท์, แอนโธฟิลไลท์ และแอคทิโนไลท์ ส่วนกลุ่มเซอร์เพนไทน์ ก็ได้แก่ ไครโซไทล์ หรือไวท์ แอสเบสทอส
                 ดร.วันทนี พันธุ์ประสิทธิ์    หัวหน้าภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แร่ใยหินเป็นแร่ธรรมชาติ ที่ค้นพบมาเป็นระยะเวลากว่า 100 ปี  และได้นำเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 50-60 ปีที่แล้ว โดยมีบริษัทเอกชนนำเข้ามาเพื่อใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตวัสดุก่อสร้างต่างๆ เนื่องจากแร่ใยหินมีคุณสมบัติ ทนกรด ทนความร้อน ทนไฟ มีเส้นใยที่แข็ง และเหนียว ยืดหยุ่นได้ดี เมื่อนำมาเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ จะทำให้มีความแข็งแรง ทนทาน ทนความร้อนได้ดี
               อย่าง ไรก็ตาม แร่ใยหินแม้จะมีส่วนช่วยให้คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ดีขึ้น แต่ก็มีข้อเสียโดยเฉพาะผลกระทบต่อร่างกายคน หากได้รับการสูดดมฝุ่นและละอองของแร่ใยหินเข้าสู่ร่างกาย จนสะสมในปริมาณที่มากและเป็นเวลานาน 15-30 ปี ก็จะทำให้เป็นโรคเกี่ยวกับปอด อาทิ มะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอดและเยื่อบุช่องท้อง (Mesothelioma) 
                  " ปัจจุบันในประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้ประกาศห้ามนำเข้าและยกเลิกการใช้แร่ใยหินในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ แล้ว อาทิ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น แคนาดา และสหรัฐอเมริกา ฯลฯ สำหรับประเทศไทย ไครโซไทล์ หรือ ไวท์ แอสเบสทอส ยังมีการอนุญาตให้นำเข้าได้อยู่ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต แต่การนำเข้า ผลิต ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองจะต้องแจ้งและขออนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งเป็น หน่วยงานที่รับผิดชอบ ส่วนแร่ใยหินชนิดครอซิโดไลท์ ได้ห้ามนำเข้าเพราะถือว่าเป็นชนิดที่มีอันตรายมาก"
                  ทั้งนี้ในทุก ๆ ปี ประเทศไทยต้องนำเข้าแร่ใยหิน เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ แต่ปริมาณการนำเข้าแต่ละปีจะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับความต้องการใช้ ซึ่งสัมพันธ์กับภาวะการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ 
                    โดยในปี 2540 ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจไทยมีการนำเข้าแร่ใยหินสูงถึงเกือบ 2 แสนตัน แต่พอปีต่อมา คือ ปี 2541 อุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจปริมาณการนำเข้าจึงลดลงเหลือ 5-6 หมื่นตันเท่านั้น  ส่วนในปีต่อ ๆ มา การนำเข้าก็เพิ่มขึ้นและลดลงสลับกันไป จนถึงปี 2549 ไทยมีการนำเข้าแร่ใยหินเกือบ 1.5 แสนตัน โดยมีประเทศที่สั่งนำเข้าที่สำคัญ ๆ อาทิ แคนาดา รัสเซีย กรีซ ฯลฯ
                ดร.วันทนี กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทยกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดแผนงานและได้ประกาศเมื่อปี 2550 ว่า ภายใน 5 ปี หรือประมาณปี 2555 จะให้มีการประกาศห้ามนำเข้าแร่ใยหิน  แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ ยังไม่มีใครบอกได้ เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ยังมีความเห็นที่ต่างกัน อยู่           "หน่วยงานภาครัฐอาจจะมองกันคนละมุม กรมโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบอาจจะมองในด้านเศรษฐกิจและ การส่งเสริมการลงทุน จึงเห็นว่าแร่ใยหินยังจำเป็นในภาคอุตสาหกรรม หากห้ามไม่ให้ใช้ จำเป็นต้องหาวัสดุอื่นมาทดแทนซึ่งมีราคาสูงกว่ามาก ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์มีราคาสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อคนจน ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขก็จะให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยของ ประชาชนจึงต้องการห้ามไม่ให้มีการนำเข้า"
                ในปัจจุบันได้มีการคิดค้นสารที่จะนำมาใช้ทดแทนแร่ใยหิน เช่น PVA ซึ่งในเมืองนอกที่มีการประกาศห้ามใช้แร่ใยหิน ได้มีการใช้สารตัวนี้ทดแทนอย่างแพร่หลาย สำหรับประเทศไทย มีการผลิตสารตัวนี้เช่นกัน แต่ยังมีน้อยอยู่จึงทำให้มีราคาแพง และหากจะสั่งนำเข้ามาใช้ก็ต้องเสียภาษี ในขณะที่การนำเข้าแร่ใยหินไม่ต้องเสีย จึงทำให้ภาคอุตสาหกรรมยังต้องการใช้แร่ใยหินอยู่
              อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงจะได้รับอันตรายจากแร่ใยหินก็คือ กลุ่มคนที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมและโรงงานที่มีการใช้แร่ใยหิน รวมถึงผู้ที่ทำงานก่อสร้างและรื้ออาคาร ซึ่งมีโอกาสที่จะสูดดมฝุ่นละอองของแร่ใยหินที่ฟุ้งกระจาย หากไม่มีการป้องกันที่ดี
            ซึ่งฝุ่นละอองของแร่ใยหินก็มีคุณสมบัติสามารถฟุ้งกระจายลอยในอากาศได้เป็นเวลานาน !??!
          สำหรับการหลีกเลี่ยงภัยจากแร่ใยหินที่ดีที่สุดนั้น ดร.วันทนี บอกว่า ก็คือ "การไม่ใช้" ซึ่งการที่จะรู้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้มีหรือไม่มีแร่ใยหินก็คือ "การติดฉลาก" บอกผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เคยจะดำเนินการขอความร่วมมือให้มีการติดฉลากลงบนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ แร่ใยหินที่อาจจะก่อให้เกิดมะเร็งได้ เพื่อให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวัง แต่ทางผู้ผลิตเห็นว่าข้อความในฉลากน่ากลัวเกินไป จึงยังไม่ให้ความร่วมมือ จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าหรือข้อสรุปในเรื่องนี้
            สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้ ดร.วันทนี มองว่า จะต้องให้ความรู้กับประชาชนในส่วนของภาคอุตสาหกรรมก็ต้องมีการป้องกันที่ดี ให้กับพนักงาน รวมถึงการรื้อถอนอาคารในเขตเมืองก็ต้องมีการป้องกันไม่ให้ฟุ้งกระจาย
            สุดท้าย ดร.วันทนี เห็นว่า ควรจะต้องมีการประกาศห้ามใช้แร่ใยหินในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สำหรับแผน 5 ปี ที่จะห้ามการนำเข้านั้น หากภาครัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอาจริง เชื่อว่าจะทำได้อย่างแน่นอน !?! 
          เพราะประเทศอื่น ๆ สามารถทำได้มาแล้วและทำมานานแล้วด้วย !?!.
               ....ขอให้ปลอดภัย  ในการใช้สินค้าอย่างรู้เท่าทัน........นะค่ะ.....
          ...ภัย จากของใช้ก็มาก ภัยจากธรรมชาติ ก็เยอะ ภัยจากคนสร้างจะมากทวีคูณ...อยู่อย่างรู้เท่าทันนะและ ข้างหน้าปี 2554-2555 จะมีภัยอีกมากมาย โปรดเตรียมตัวเตรียมใจ...

วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2554

20 ปีคดีอัปยศ จากหัวใจ....แม่...เพื่อ...ลูก...


20 ปีคดีอัปยศ  จากหัวใจ....แม่...เพื่อ...ลูก...

    "อีกเจ็ดวันครบ 20 ปี ที่แม่อย่างฉันตามหาความเป็นธรรมให้ลูกที่ได้รับความเสียหายจากการทำคลอดของรพ.พญาไท จนถึงวันนี้ก็ยังไม่สำเร็จ แต่ฉันไม่ได้สู้เพื่อลูกเท่านั้นฉันสู้เพื่อผู้คนในสังคมจะได้ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อเหมือนครอบครัวฉันอีก"
       ปรียนันท์...เป็นหญิงท้องแรก ฝากครรภ์กับสูตินรีแพทย์ของรพ.พญาไท พบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ เมื่อเจ็บท้องคลอดเธอไปโรงพยาบาล แพทย์ติดดูแลคนไข้อื่น และสั่งให้ยาเร่งคลอดทางโทรศัพท์โดยไม่มาตรวจครรภ์ เมื่อใช้ยาเร่งคลอดไม่ได้ผลแพทย์พยายามช่วยคลอดด้วยการใช้เครื่องดูดดึงแต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากเด็กอยู่ในท่าผิดปกติคือหงายหน้าออก(OPP) หลังผ่าตัดทำคลอด เด็กมีน้ำหนักมากถึง 4,050 กรัม บริเวณท้ายทอยมีรอยบวมน่วมก้อนโตที่เกิดจากการใช้เครื่องดูด
            หลังคลอดเด็กตัวเหลืองมากส่องไฟไม่ลด กุมารแพทย์เปลี่ยนถ่ายเลือดผ่านสาย สะดือ เกิดการติดเชื้อ มีไข้สูง สะดือแฉะมีหนองสีเหลือง ร้องกวนมาก น้ำหนักลดอย่างต่อเนื่อง ตรวจพบเม็ดเลือดขาวสูงมาก แต่แพทย์มิได้ให้ยาปฏิชีวนะ มีการเจาะเลือดเพื่อเพาะเชื้อ แต่ไม่ทันทราบผลก็จำหน่ายเด็กออกจากโรงพยาบาล  การติดเชื้ออย่างรุนแรงโดยไม่มีการดูแลรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที ทำให้ ข้อสะโพกซ้ายของเด็กติดเชื้ออย่างรุนแรงถูกเชื้อโรคทำลายจนสลายไป กลายเป็นความทุกข์ทรมานและเป็นปัญหาเรื้อรังของเด็กไปตลอดชีวิต
            ปรียนันท์ฯ......อุ้มลูกกลับไปขอความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลหลายครั้ง แต่ถูกปฏิเสธ อ้างว่าลูกของเธออาจติดเชื้อจากที่ใดก็ได้คนเราเป็นหวัดก็ติดเชื้อไวรัสจาก อากาศ จะช่วยรักษาให้แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายปกติ จะลดให้บ้างเพื่อเห็นแก่มนุษยธรรม แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นการรับผิด เพราะไม่ได้ทำผิดพลาด ใด ๆ เธอจึงอุ้มลูกกลับบ้านด้วยความช้ำใจ
          น้องเซ้นต์......เจ็บปวดทุกข์ทรมานจากการผ่าตัดหลายครั้ง ปรียนันท์ฯ ทุ่มเทค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาลูกจำนวนมาก จนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว ก็ไม่สามารถแก้ไขเยียวยาความเสียหายได้ ปัจจุบันลูกของเธอข้อสะโพกซ้ายไม่มี ขาสองข้างไม่เท่ากัน เดินกระเผลก นั่งขัดสมาธิไม่ได้ หลังคดปวดขาทุกคืน ข้อแขนซ้ายถูกทำลายและมีร่องรอยของกระดูกต้นแขนหัก สั้นและอ่อนแรงกว่าแขนขวา แกว่งแขน 360 องศาไม่ได้บริเวณท้าย ทอยมีรอยเครื่องดูดและผมขึ้นน้อย หลังอายุ 20 ปี ต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมทุก 10 ปี การเคยติดเชื้อในกระดูกทำให้การผ่าตัดมีความเสี่ยงสูงกว่าคนปกติ ข้อเทียมที่เหมาะสม ต้องทำจากไทเทเนียมและเซรามิคซึ่งมีราคาสูงมาก และสิทธิบัตรทองไม่ครอบคลุม
                 วิบากกรรม...ของการต่อสู้
ปรียนันท์ฯ ร้องเรียนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย รวมทั้งดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ เจ้าของโรงพยาบาลซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในสมัยนั้น แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง เมื่อขอคัดถ่ายสำเนาเวชระเบียนเพื่อนำไปรักษาลูก ก็ถูกท้าทายให้นำทนายความไปฟ้องเอา

ฟ้องโรงพยาบาลพญาไท 1
ปรียนันท์ฯฟ้องรพ.พญาไท 1และแพทย์ผู้รักษา เป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย ระหว่างนั้นดร.อาทิตย์ฯ เจ้าของรพ.เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต่อมากิจการรพ.พญาไท 1 ถูกเปลี่ยนมือบริหารโดยนายวิชัย ทองแตง (ทนายความคดีซุกหุ้ของดร.ทักษิณ ชินวัตร) เธอใช้เวลาต่อสู้คดีนานถึง 9 ปี ศาลชั้นต้น, อุทธรณ์และฎีกา พิพากษายกฟ้องเพราะคดีหมดอายุความทางแพ่งหนึ่งปี (เหตุเกิดปี2534 ยื่นฟ้องปี 2539 รอมติแพทยสภา) แม้จะต่อสู้ว่าเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องอาญา เนื่องจากลูกของเธอได้รับอันตรายสาหัสจนถึงขั้นพิการ ต้องนับอายุความทางอาญาที่ยาวกว่าคือ 10 ปี แต่ศาลฎีกาให้เหตุผลว่าเธอบรรยายฟ้องไม่ครบองค์ประกอบคดีอาญา นับอายุความที่ยาวกว่าไม่ได้ จึงพิพากษายืน (คดีสิ้นสุดแล้ว) คดีนี้เธอถูกยึดค่าธรรมเนียมศาลละสองแสนบาท ถูกศาลปรับให้จ่ายค่าทนายให้รพ.พญาไท 1 อีก 1 แสนบาท ทำให้เธอถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว เนื่องจากต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาลูกอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

ระหว่างนั้นคณะกรรมาธิการการสาธารณสุขสภาผู้แทนราษฎร ชี้ว่าเป็นความผิดพลาดของโรงพยาบาล แต่โรงพยาบาลอ้างว่าศาลตัดสินว่าโรงพยาบาลไม่ผิดจึงไม่ยอมเจรจา ทั้งที่ศาลตัดสินว่าคดีหมดอายุความ ยังไม่ได้พิสูจน์ถูกผิด 
         (ปัจจุบันรพ.พญาไท1 เปลี่ยนเจ้าของเป็นของนพ.ปราเสริฐ ประสาททองโอสถ เจ้าของรพ.กรุงเทพฯ และสายการบินบางกอกแอร์เวย์)
          ถูกฟ้องกลับ 100 ล้าน   เมื่อ ใช้กฎหมายไม่เป็นผล ปรียนันท์ฯ ไปถือป้ายประท้วงที่หน้าโรงพยาบาลคู่กรณี พร้อมให้สัมภาษณ์สื่อทั้งวิทยุ,หนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ เป็นเหตุให้คู่กรณี(สมัยนายวิชัย ทองแตงบริหาร) ฟ้องเธอ 2 คดีทั้งทางแพ่งและอาญา ข้อหาละเมิดและหมิ่นประมาทเรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท 

คดีอาญา
 ใช้เวลาต่อสู้นาน 5 ปี ศาลชั้นต้นและอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องคำพิพากษาระบุว่า เห็นว่าจำเลยได้ยื่นร้องเรียนตามสิทธิข้อกฎหมาย เป็นการแสดงเพื่อความสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันผลกระทบด้านความปลอดภัยของชีวิตและครอบครัวการกระทำของจำเลยจึงไม่มีมูลความผิด” (คดีสิ้นสุดแล้ว)
        คดีแพ่ง 
รพ.พญา 1 ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเธอ 100 ล้านบาทใช้เวลาต่อสู้นาน 7 ปี ศาลชั้นต้นและอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง คำพิพากษาระบุว่า เห็นว่าคำกล่าวของจำเลย เป็นการกล่าวไปตามความเข้าใจเพื่อความชอบธรรมและปกป้องสิทธิตามครองธรรม จึงไม่เป็นการละเมิด พิพากษายืนคู่กรณียื่นฎีกา (คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา)
       เกี่ยวกับคดีนี้
1.คู่กรณีร้องขอให้ศาลออกคำสั่งปิดปากเธอไม่ให้ออกสื่อ มีการไต่สวนและออกคำสั่งลับหลังโดยเธอไม่ได้ไปศาลทนายฝ่ายรพ.พญาไท 1 แถลงว่าส่งหมายแล้วเธอไม่มาศาลทั้งที่หมายไม่เคยออกจากศาล  เธอขอให้ศาลยกเลิกคำสั่งเดิมขอให้มีการไต่สวนใหม่ ศาลยกเลิกคำสั่งเดิมที่มิชอบด้วยกฎหมายและให้ไต่สวนใหม่แต่ก็ออกคำสั่งปิดปากเหมือนเดิม 
2.คู่กรณีฟ้องเรียกค่าเสียหาย100ล้านบาท ศาลให้เธอชนะแต่ไม่สั่งให้รพ.พญาไท1 จ่ายค่าทนายให้ฉันแม้แต่บาทเดียว  ช่างต่างกับคดีที่เธอฟ้องรพ.57 ล้านเมื่อศาลยกฟ้อง ศาลสั่งให้เธอจ่ายค่าทนายให้รพ.ตั้งหนึ่งแสนบาท ทั้งที่คกก.สิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีมติว่ารพ.ผิด
        ปรียนันท์....ไม่ยอมถอย
เมื่อถึงทางตันกับคำว่า หมดอายุความแต่การละเมิดสิทธิเด็กยังคงอยู่ ปรียนันท์ฯ ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ที่มีมติอย่างตรงไปตรงมาว่า
(1)  แพทย์ผู้ทำคลอดและกุมารแพทย์ของโรงพยาบาลพญาไท1 ประมาทเลินเล่อรวมทั้งโรงพยาบาลพญาไท 1 ไม่มีมาตรการแก้ไขเยียวยา จึงก่อให้เกิดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงให้ช่วยเหลือเยียวยา ทันที (แต่รพ.พญาไท 1 เพิกเฉยไม่ทำตามมติ)
(2)  กระบวนการตรวจสอบของแพทยสภาไม่เป็นธรรมต่อผู้ร้องให้รื้อฟื้นเรื่องขึ้น พิจารณาใหม่ภายใน 30 วัน (กระทรวงสาธารณสุข ยุคนายไชยา สะสมทรัพย์ ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า แพทยสภาไม่มีอำนาจในการรื้อคดีใหม่ โดยแพทยสภาได้เข้าชี้แจงเพียงฝ่ายเดียว)
         กสม.ก็ไม่ยอมถอย
เมื่อกสม.ไม่สามารถบังคับให้รพ.พญาไท 1 และแพทยสภาให้ทำตามมติได้ จึงรายงานนายกรัฐมนตรี (นายสมัคร สุนทรเวช) ให้มีบัญชาภายใน 60 วัน แต่นายสมัครฯไม่มีบัญชา (พี่สาวของนายสมัครฯ เป็นกรรมการแพทยสภาชุดที่ปรียนันท์ฯ ฟ้อง)
           กสม.จึงเดินหน้ารายงานต่อประธานรัฐสภาและวุฒิสภา เรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรนาน 4 ชั่วโมงในสมัยรัฐบาลนายสมชาย วงษ์สวัสดิ์ ซึ่ง นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตั้งกรรมการไกล่เกลี่ยเสนอให้เธอรับเงิน 5 แสนบาทและให้ยุติเรื่อง แต่เธอขอให้คู่กรณีแสดงความเสียใจและขอโทษต่อเหตุการณ์ที่ผ่านมาเสียก่อน แล้วค่อยพูดถึงการเยียวยาแต่คู่กรณีปฏิเสธ
          ขณะที่รัฐบาลให้เหตุผลว่านอกเหนือวิสัยที่รัฐจะเข้าไปแทรกแซงได้ เนื่องจากเป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับโรงพยาบาลเอกชน
         ฟ้องแพทยสภา
เธอร้องเรียน แพทยสภา เรื่องเงียบนานเกือบ 3 ปี พอเธอยื่นฟ้องโรงพยาบาล แพทยสภาก็รีบมีมติว่าเรื่องของเธอเป็นคดีไม่มีมูลโดย ไม่เคยเรียกเธอชี้แจง และละเว้นไม่สอบสวนนพ.สุรพงษ์ อำพันวงศ์ ผอ.โรงพยาบาลที่นั่งออกรายการทีวีคู่กับพญ.ประสบศรี อึ้งถาวร รองเลขาธิการแพทย สภาผู้เซนต์มติรวมทั้งคู่กรณีทำรายงานเท็จขัดต่อข้อเท็จจริงในเวชระเบียน
          ความไม่ชอบมาพากลทำให้ปรียนันท์ร้องขอให้แพทยสภารื้อคดีใหม่ แต่แพทยสภายกคำร้องไม่รื้อคดีใหม่ แม้จะมีกรรมการสองท่านให้ความเห็นแย้งว่าคดีมีมูล” และการวินิจฉัยมีความล่าช้าไม่ทันท่วงทีก็ตาม มิหนำซ้ำยังมีนพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ กรรมการแพทยสภาเสนอให้ลบรายงานการประชุมส่วนที่มีความเห็นแย้งออกด้วย

เธอจึงฟ้องแพทยสภาทั้งคณะ 33 คน เป็นคดีอาญามาตรา 157 ฐานละเว้นและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ศาลใช้เวลา 6 ปีในการไต่สวนมูลฟ้อง ศาลชั้นต้น, อุทธรณ์และฎีกาพิพากษาไม่รับฟ้อง
           คำพิพากษาระบุว่า“..แม้จะเป็นความจริงว่าเป็นการช่วยเหลือแแพทย์ผู้ถูกร้องไม่ให้ถูกลงโทษ ก็มิได้ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือกระทบกระเทือนสิทธิ์ในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนโดยตรงแต่ประการใด โจทก์ทั้งสองไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้องแพทยสภาทั้ง 33 คน

ปรียนันท์ฯเลือกไม่ดำเนินคดีอาญา ต่อแพทยสภาอีก เนื่องจากคณะกรรมการสิทธิฯ มีมติแล้วว่า แพทยสภาผิด สังคมรับรู้แล้วว่าแพทยสภาผิด เธอไม่ประสงค์จะให้ใครติดคุก เพียงแค่ต้องการปรามไม่ให้แพทยสภาทำกับคนอื่นในสังคมอีก ต่กลับเป็นเหตุให้แพทยสภานำคดีนี้เป็นบรรทัดฐาน ต่อสู้กับผู้เสียหายที่ฟ้องแพทยสภาเป็นคดีอาญา แทบทุกคดี
          ความเสียหายใหม่
ต่อมาในปี2551เมื่อน้องเซ้นต์อายุได้ 17 ปี มีอาการปวดหลังร้าวลงไปที่ขาอย่างรุนแรง หลายครั้งไม่สามารถนอนหลับลงได้ ผลการตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์เมื่อ 14 มิ.ย. 51 พบว่า กระดูกสันหลังเคลื่อน โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ หมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับไขสันหลังและเส้นประสาทเป็นความเสียหายใหม่ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากความเสียหายเดิม

ศาลคือที่พึ่งสุดท้าย..อีกครั้ง
ปี 2551 ประเทศไทยมีกฎหมายใหม่ พรบ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551” มาตรา 13 บัญญัติว่า
ในกรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ หรืออนามัย...เป็นกรณีที่ต้องใช้เวลาใการแสดงอาการ ผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภค ต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในสามปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย ....

19 พ.ค. 52 
ปรียนันท์ฯ ฟ้องรพ.พญาไท เป็นคดีผู้บริโภค ทางรพ.พญาไท 1 (ยุคนายวิชัย ทองแตง) ไม่ประสงค์เจรจาไกล่เกลี่ย และต่อสู้โดยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดว่าเป็นคดีฟ้องซ้ำและหมดอายุความ

28 ก.ค. 52
  ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องว่า ฟ้องซ้ำและหมดอายุความขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์  โดยกรมคุ้มครองสิทธิฯ กระทรวงยุติธรรมช่วยดูแลเรื่องคดีความ

กว่า 20 ปี ที่แม่อย่างฉันอดทนต่อสู้หาความเป็นธรรมให้กับลูก เพราะเชื่อตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดว่า สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับการคุ้มครองแต่จนถึงทุกวันนี้ผู้บริโภคอย่างฉันกับลูกไม่เคยได้รับการคุ้มครอง  มีแต่ต้องดิ้นรนช่วยเหลือตนเองแทบทั้งสิ้น

ฉันร้องเรียนหลายหน่วยงานทุกวิถีทาง แต่ไม่มีเส้นทางไหนเข้าถึงความยุติธรรมได้เลยเพราะระบบเส้นสายอุปถัมภ์ที่มีอยู่จริงในบ้านเมืองเป็นอุปสรรค  หลายครั้งฉันรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง  แต่ก็ไม่เคยถอยให้กับความไม่ถูกต้อง จนทุกวันนี้ถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำเพื่อสังคมส่วนรวม  มากกว่าเรื่องลูกซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัว ฉันอดทนต่อสู้จนผู้คนในสังคมบางคนตราหน้าว่าฉันนั้น บ้า โง่ ตลก ทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้  แต่ฉันกลับเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากเป็นการร่วมมือกันรังแกประชาชน ของอำนาจรัฐ อำนาจตุลาการ ถ้าปล่อยเรื่องนี้หลุดรอดการตรวจสอบ  ต่อไปชาวบ้านจะอยู่กันได้อย่างไร  ทุกคนมีเจ็บไข้ได้ป่วยกันทุกวัน  หมอก็มีผิดพลาดทุกวัน   แล้วประชาชนที่ไม่มีเส้นสายจะหาความเป็นธรรมได้จากใคร

โรงพยาบาลพญาไท 1 และแพทยสภา คงไม่รับรู้ว่าท่านได้ทำบาปทำกรรม   ทำลายครอบครัวที่บริสุทธิ์ครอบครัวหนึ่งจนพังพินาศสิ้นเนื้อประดาตัว ชีวิตครอบครัวเหมือนแพแตก แยกไปคนละทิศละทาง สามีฉันบากหน้าไปทำงานขายแรงงานที่ต่างประเทศ เพื่อหาเงินมาไว้รักษาลูกในอนาคต แต่ก็ไปได้รับอุบัติเหตุตกจากหลังคาที่ไปรับจ้างซ่อม จนกระดูกสันหลังหัก ยังต้องรักษาตัวอยู่อย่างต่อเนื่อง  (ปัจจุบันสามีกลับมาอยู่กับครอบครัวแล้ว  แต่ก็ทำงานหนักไม่ได้ เพราะปวดและหลังแข็ง บ่อย ๆ ในอนาคตก็ไม่รู้จะเป็นอย่างไร)

แม้จะแบกรับเรื่องส่วนตัวและเรื่อง ส่วนรวมหนักเพียงใด แต่ฉันก็ยืนหยัดที่จะสู้ เพียงเพื่ออยากเห็นความถูกต้อง และอยากเห็นวงการแพทย์ วงการศาล มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น  ฉันรู้ว่าไม่มีแพทย์คนไหนตั้งใจทำพลาด แต่ในเมื่อพลาดแล้วควรจะรับผิดชอบช่วยเหลือดูแลเยียวยาผู้เสียหายบ้าง  ไม่ใช่ปัดความรับผิดชอบไม่พูดคุยปล่อยให้เผชิญชะตากรรม    เห็นชาวบ้านไม่มีความรู้ก็ท้าทายให้ฟ้อง   มิหนำซ้ำยังอาศัยความเหนือกว่าทุกด้านรังแก และยืมมือกฎหมายฟ้องกลับ ทำให้ผู้เสียหายต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการสู้คดีหนักเข้าไปอีก 

ฉันคือคนที่นอนอยู่กับปัญหามาอย่างยาวนาน จนหมอบางคนเรียกฉันว่า"นางปีศาจร้ายวงการแพทย์" ขอทำนายอนาคตของสังคมไทยว่า  หากขืนปล่อยให้สังคมมีความเหลื่อมล้ำเช่นนี้ต่อไป ความเป็นธรรมไม่มี สันติสุขไม่มีวันเกิดขึ้นอย่างแน่นอน” 

ฉันขอฝากไปถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการแพทย์ว่า  ขอให้แก้ไขในสิ่งผิด ขอให้เป็นสุภาพบุรุษสุภาพสตรี หยุดการกล่าวให้ร้ายฉันว่าเป็นคนคุยไม่รู้เรื่อง ต่อสู้ด้วยความอาฆาตแค้น ปล่อยให้ลูกเดินกระเผลกเพื่อเรียกร้องความสนใจ  ต้องการฟ้องร้องเพื่อให้ได้เงินเยอะ ๆ หรือไม่ตัดรองเท้าให้ลูกใส่  ที่ผ่านมารพ.พญาไท 1 ไม่เคยรับผิดชอบใด ๆ ทิ้งภาระให้ฉันเสียค่ารักษาผ่าตัด ดูแลลูกจนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว  เอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ลูกทุกปีล่าสุดหมดไป 36,000 บาท  และทำพื้นรองเท้าเสริมด้านใน 4,800 บาท(เสริมด้านนอกสูงมากเดินแล้วเท้าพลิก) ค่าใช้จ่ายในการทำกายภาพบำบัดอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง และอื่น ๆ อีกมากมาย ขอให้หยุดทำร้ายครอบครัวฉันเสียที  และปีนี้ลูกฉันอายุครบ 20 ปีต้องได้รับการผ่าตัดใส่ข้อสะโพกเทียมแล้ว ใครจะยื่นมือเข้ามาแก้ไขในสิ่งผิด  หากวงการแพทย์ไทยนิ่งเฉยฉันก็จะดิ้นรนทางอื่นต่อไป

ทุกขั้นตอนการต่อสู้มีความอัปยศอดสูที่ฉันได้บันทึกเอาไว้อย่างละเีอียด โปรดเข้าไปอ่านต่อได้ที่  http:/www.thai-medical-error.blogspot.com หรือคลิกเข้าไปอ่านหนังสือที่ฉันเขียน "นางปีศาจร้ายในสายตาหมอ" ได้ที่นั่นเช่นกัน

วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2554

หมอประเวศ ปลุกประชาชน ติดอาวุธทางปัญญาผลักดันนักการเมืองคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค



หมอประเวศ  ปลุกประชาชน  ติดอาวุธทางปัญญาผลักดันนักการเมืองคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค
     ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “สานพลัง สามพลัง เพื่อผู้บริโภคไทย” จัดการประชุมวิชาการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งที่ 2 เนื่องในโอกาสวันสิทธิผู้บริโภคสากล ว่า การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นศีลธรรมที่มนุษย์พึงมีต่อกัน การทำร้ายผู้บริโภคเป็นการกระทำที่ผิดศีลธรรม แต่พบว่า สังคมปัจจุบันเป็นสังคมแสวงหากำไร ผู้ บริโภคในปัจจุบันถูกทำร้ายจากทุกทิศทาง ทั้งในด้านอาหาร ยา สินค้าบริการ และสภาพสิ่งแวดล้อม ประชาชน ได้รับผลกระทบทางลบและไม่มีความปลอดภัยมากมายจากสินค้าด้อยคุณภาพ อันตราย คิดราคาแพงเกินไป มีการใช้ยาฆ่าแมลง- แร่ใยหิน- สารหนู- สารแคดเมี่ยม และสารตะกั่ว  แผ่นดินของเราเป็นแผ่นดินอาบยาพิษ ใช้ยา และสารพิษมากมาย ชีวิตของผู้บริโภคล้วนอยู่ล้อมรอบพิษภัยต่างๆ  ที่ สำคัญ การโฆษณาทำให้เกิดความเสื่อม ขาดการวิเคราะห์ ผู้ประกอบการแสวงหากำไรสูงสุด ไม่สนใจศีลธรรมเช่น การโฆษณาให้เด็กกินหวาน ดึงเงินไปจากพ่อแม่เด็ก 170,000 ล้าน บาท แต่ทิ้งปัญญาสุขภาพไว้กับเด็กซึ่งเป็นอนาคตของชาติมากมาย ทั้งโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน จะเห็นได้ว่า ระบบทุนนิยมก่อให้เกิดหายนะกระทบผู้บริโภคทั้งทาง ตรงและทางอ้อม นำไปสู่ความรุนแรง ความขัดแย้ง ความตาย ก่อความทุกข์ไปทั่วโลก ทำลายสังคม สิ่งแวดล้อม นำไปสู่โลกร้อน ผ่านการส่งเสริมการบริโภคเกินเลย เกิดภัยพิบัติไปทั่วโลก เช่น พายุ น้ำท่วมฉับพลัน ภาวะแห้งแล้ง ไฟไหม้ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิดจะเกิดมากขึ้น นำไปสู่การขาดแคลนอาหาร เพราะพื้นที่การผลิตมีน้อยลง เกิดโรคระบาด การจลาจลและสงคราม ดังนั้น ประชาชนต้องขับเคลื่อนด้วยการติดอาวุธทางปัญญาจากภาควิชาการ ผลักดันให้นักการเมืองทำงานเพื่อประชาชน
       “เพราะนักการเมืองจะทำเรื่องดีๆ ไม่ได้ ถ้าไม่มีประชาชนคอยขับเคลื่อน เพราะโดยปกติ อำนาจรัฐจะเข้าข้างคนมีเงิน ไม่เคยเข้าข้างคนที่เสียเปรียบ อย่างเรื่องร่าง พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งควรมีกองทุนเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคขนาดใหญ่พอที่จะส่งเสริมการทำระบบคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ แต่เท่าที่ทราบมาก็ถูกตัดงบประมาณ

นักการ เมืองเป็นผู้แทนราษฎร ราษฎรเลือกเข้าไปให้ไปทำงาน แต่เข้าไปหาประโยชน์เป็นพันล้าน หมื่นล้านแ แสนล้าน แต่พอเป็นเงินคุ้มครองผู้บริโภคของบประมาณไม่น้อยกว่า 5 บาทต่อหัวประชากร ก็จะมาขอตัดเหลือ 3 บาทต่อหัวประชากร ทั้งที่ต้องทำงานจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน นี่ก็จะมาตัดเขา ฉะนั้น ลำพังการเมืองนั้นไม่เคยทำสิ่งที่ดีๆได้ จำเป็นต้องอาศัยพลังประชาชนที่ตื่นตัวและติดอาวุธด้วยปัญญาและใช้สันติวิธีรุกคืบเข้าไป ผมเชื่อว่า อำนาจจะเคลื่อนที่จากพลานุภาพ ซึ่งคืออานาจรัฐ-การใช้กำลัง ไปสู่ธนานุภาพซึ่งหมายถึงอำนาจทางการเงิน ไปสู่สังคมานุภาพ คือพลังทางสังคมในที่สุด
    ศ.นพ.ประเวศกล่าวว่า การจะสร้างกลไกในการคุ้มครองผู้บริโภคจากสังคมแห่งการแสวงหากำไร เปลี่ยนเป็นสังคมแห่งการอยู่ร่วมกัน ต้องเร่งสร้าง "พลังทางปัญญา พลังทางสังคม และพลังศีลธรรม" รวมเป็นพลังในการขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคได้ดังนี 1. สร้างชุมชนเข้มแข็งทุกๆ ด้าน เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืน 2. ระบบ สุขภาพชุมชน ที่จะดูแลคนในชุมชน เช่น อสม. หมออนามัย เป็นต้น เผยแพร่ให้ความรู้การจัดอบรมนักสุขภาพครอบครัวที่คอยให้ข้อมูลการบริโภคที่ ปลอดภัย 3. สร้างตลาดขายตรงให้มากที่สุด ไม่ผ่านการโฆษณาชวนเชื่อส่งเสริมการบริโภคเกินเลย  มี ตลาดขายตรงผู้บริโภคซื้อจากผู้ขายโดยตรง รับผิดชอบ มีความเอื้ออาทรต่อกัน ผลิตสินค้าปลดสารพิษ เพื่อสุขภาพของผู้บริโภค ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่รวมตัวจัดตั้งบริษัทที่ทำเพื่อสังคม เชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค  พลังแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืนอยู่ที่พลังของผู้บริโภค 4. คน ถูกยัดเยียดให้ข้อมูลข่าวสาร ควรส่งเสริมหลักสูตรวิเคราะห์ข่าวสารการโฆษณา คุ้มครองผู้บริโภคในทุกชั้นเรียน ควรมีความสามารถว่าข่าวสารอะไรเชื่อถือได้หรือไม่ ฝึกวิจารณญาณไม่ให้ถูกล้างสมอง ควรส่งเสริมให้เรียนรู้จากปฏิบัติจริง
5. สื่อสร้างสรรค์  คณะ นิเทศ/วารสาร ควรรวมตัวกันทำระบบเฝ้าระวังสื่อ เป็นการโน้มน้าวให้สื่อเป็นสื่อสร้างสรรค์มากขึ้น มิฉะนั้นคนที่จบสาขาเหล่านี้ก็จะเข้าสู่วงจรปลุกระดมให้บริโภคที่ไม่สมควร  องค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคควรส่งเสริมระบบเฝ้าระวังสื่อ 6. การวิจัยเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เป็นกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภค 7.เวทีพัฒนานโยบายเพื่อผู้บริโภค ภาครัฐส่วนใหญ่ไม่เข้าข้างผู้เสียเปรียบ จำเป็นต้องใช้ 3 พลังคือ พลังภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคมมาเชื่อมโยงและมีเวทีในการพัฒนาเพื่อผู้บริโภค 8. ส่งเสริมธุรกิจไทยหัวใจมนุษย์ ที่มีความรับผิดชอบ ปฏิรูปความเป็นมนุษย์ ไม่ได้มุ่งแสวงผลกำไรเพียงอย่างเดียว และ 9. กองทุนเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค พลังที่จะขับเคลื่อน ควรมีกองทุนขนาดใหญ่ที่ส่งเสริมการทำระบบคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย รวม 11 องค์กร  จัดการประชุมวิชาการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งที่ 2 เนื่องในโอกาสวันสิทธิผู้บริโภคสากล วันที่ 15 มีนาคมของทุกปี (World Consumer Right Day) ในหัวข้อ สานพลัง สามพลัง เพื่อผู้บริโภค” ระหว่างวันที่ 14-15 มี.ค. ซึ่งได้รับร่วมมือ 3 พลังหลัก อันประกอบด้วย ภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ระดมเครือข่ายกว่า 800 คน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนา วิชาการด้านการคุ้มครองผู้บริโภค นำไปสู่จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายและร่วมกำหนดทิศทางในการพัฒนางานคุ้มครองผู้บริโภคทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ