พ่อหลวงสอนใว้...พอเพียง คือ ความพอดี ของชีวิต

พ่อหลวงสอนใว้...พอเพียง คือ ความพอดี ของชีวิต
ขอให้พระคุ้มครองคนทำความ...ดี

วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ผู้นำตามธรรมชาติ แบบอย่างคนรุ่นใหม่ เพื่อการปฎิรูปประเทศไทย

อานันท์-ประเวศ ชู นพ.เสมผู้นำตามธรรมชาติ แบบอย่างคนรุ่นใหม่ เพื่อการปฎิรูปประเทศไทย

กลุ่มองค์กรร่วมจัดงาน 100 ปี นพ.เสม แพทย์ต้นแบบของสังคมไทย ลูกศิษย์ ยกชีวิตการทำงานยืนหยัดความถูกต้อง เพื่อส่วนรวม เป็นสิ่งที่สังคมไทยควรเรียนรู้และยึดเป็นแนวทาง
วันที่ 31 พฤษภาคม กระทรวงสาธารณสุข  มูลนิธิหมอเสม พริ้งพวงแก้ว และกลุ่มองค์กรต่างๆ ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานหนึ่งคนยืนหยัด หนึ่งศตวรรษ เสม พริ้งพวงแก้ว เนื่องในโอกาสที่ท่านมีอายุครบ 100 ปีและเป็นแพทย์ต้นแบบผู้มีคุณูปการต่อสังคมไทยในหลายด้าน โดยมี ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ งานด้านบริหารจัดการและนิติบัญญัติ ของ ศ.นพ. เสม พริ้งพวงแก้ว โดย นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตประธานกรรมการปฏิรูป และหัวข้อ งานด้านสาธารณสุขและสังคม ของ ศ.นพ. เสม พริ้งพวงแก้ว โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานกรรมการสมัชชาปฏิรูป และประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ณ หอประชุมจุฬาฯ
นายอานันท์ กล่าวถึง ศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว ตอนหนึ่งว่า ชื่อของ นพ.เสม เป็นชื่อที่มีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัว เอ่ยชื่อเมื่อใด ผู้ที่เคยสัมผัสหรือเคยร่วมงานจะเกิดความรู้สึกสบายใจ มีความหวัง รวมทั้งมีจิตใจดีขึ้นอย่างฉับพลัน ด้วยเพราะระลึกถึงคุณงามความดี กิจกรรมต่างๆ ที่คุณหมอได้ทำไว้ ทำให้จิตใจเกิดพลังใหม่ขึ้นมา ซึ่งเป็นพลังในเชิงบวก สร้างสรรค์ และเป็นพลังที่บริสุทธิ์ ขณะเดียวกันยังก่อให้เกิดความรู้สึกที่ว่า สังคมไทยนั้น ธรรมะย่อมชนะอธรรม ความยุติธรรมย่อมชนะความอยุติธรรมและสุดท้าย  ประโยชน์ส่วนร่วมย่อมชนะ ประโยชน์ส่วนตัว
        นายอานันท์ กล่าวถึงงานของ นพ.เสม ไม่ว่าจะเป็นงานราชการหรือการแพทย์ เป็นสิ่งที่ประจักษ์ต่อสังคมแล้วว่า ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ตกยาก หรือผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ขณะเดียวกัน นพ.เสม ยังเป็นปูชนียบุคคลรุ่นเก่าแก่ในวงการสาธารณะสุขของประเทศไทย มีบทบาทต่อการกระจายระบบสาธารณสุขไปสู่ชนบท รวมทั้งเป็นศูนย์กลางของผู้ที่รักความถูกต้องในสังคมไทยเสมอมา
นพ.เสม   มีอุดมการณ์ที่จะอุทิศตัวให้กับท้องถิ่นทุรกันดาร ซึ่งอุดมการณ์ดังกล่าว หากไม่มีความมานะอดทน ความตั้งใจ และไม่ใช่คนดีจริงก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ จึงอยากเห็นสังคมไทยทั้งในปัจจุบัน อนาคต ยึดถือแนวทางการทำงาน การปฏิบัติตนของคุณหมอเป็นแบบอย่าง กล่าวคือ ท่าน เป็นผู้สนับสนุนทางความคิดและให้กำลังใจแก่คนรุ่นใหม่ ให้กล้าทำในสิ่งที่ก้าวหน้าและถูกต้อง เป็นนักบริหารที่แก้ปัญหาอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะในภาวะขับขัน เป็นนักต่อสู้เพื่อความดี โดยไม่ท้อแท้กับอุปสรรค ไม่ย่อมให้อิทธิพลหรืออามิสสินจ้าง มีอำนาจเหนือความถูกต้องและผลประโยชน์ของประชาชนนายอานันท์ กล่าว และว่า นพ.เสมเป็นผู้ที่มีแต่ให้ อีกทั้งยังเป็นบุคคลจำนวนน้อยมากในเมืองไทย ที่มองทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรค ความสำเร็จ หรือผลประโยชน์พ้นตัวออกไป
ขณะที่ ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า นพ.เสม   เป็นปูชนียบุคคล ด้วยเพราะวัตรปฏิบัติที่ได้กระทำมาอย่างยาวนาน กระทั่งผู้คนเห็นและเกิดความรู้สึกในหัวใจขึ้นมา โดยไม่ได้เกิดจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นคนที่มีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ อีกทั้งยังมีความเป็นผู้นำตามธรรมชาติ ซึ่งหมายถึง เป็นคนเห็นแก่ส่วนร่วม เป็นคนสุจริต ฉลาด มีปัญญา มีทักษะในการสื่อสาร รวมทั้งยังเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป ทั้งนี้ ลักษณะดังกล่าว อาจสวนทางกับลักษณะของผู้นำอีก 2 ประเภท นั่นคือ ผู้นำจากการเลือกตั้งและแต่งตั้ง  ซึ่งไม่แน่ว่า จะมีความสุจริต เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมหรือไม่ ฉะนั้น น่าจะหันมาสนใจผู้นำตามธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ มากขึ้น
การ ปฏิรูปประเทศไทย จึงได้มีการเสนอให้มีการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ จากการรวมศูนย์  ให้ชุมชนท้องถิ่นมีความสามารถในการจัดการตนเอง  เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง  โดยให้มหาวิทยาลัยที่มีอยู่ทั่วประเทศ  เข้าไปหนุนเสริม สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ประเทศชาติแข็งแรง
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวถึง  การเป็นแพทย์ในชนบท ซึ่งได้สัมผัสความทุกข์ยากว่า จะช่วยสร้างความเป็นคน สร้างพลังจิตสำนึก ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นพลังนิวเคลียร์ในตัวมนุษย์ ที่จะนำไปสู่การสร้างสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่การศึกษาในบ้านเรา ไม่ได้ช่วยสร้างพลังดังกล่าว เพราะเอาแต่ท่องความรู้
“การ ศึกษาเป็นระบบที่ใหญ่มาก มีครูอาจารย์ นักศึกษา นักวิชาการเป็นแสนคน แต่ประเทศไทยกลับไม่มีการใช้ระบบการเรียนรู้  ที่นำไปสู่การสร้างจิตสำนึกของ มนุษย์ ขณะเดียวกันโดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์ทุกคนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีในหัวใจพร้อมจะทำเพื่อเพื่อนมนุษย์ แต่เมื่อมีบางอย่างมาขวางกั้น ก็กลายเป็นคนไม่มีหัวใจ ไม่มีความเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์”
จากนั้นมีเวทีเสวนา “100 ปีชีวิตพ่อเสมให้อะไรกับสังคมไทยบ้าง โดยมี นายพิภพ ธงไชย กรรมการและเลขานุการมูลนิธิเด็ก นพ.ดร.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผอ.หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา และนพ.ศุภชัย ครบตระกูลชัย ประธานเครือข่ายแพทย์รุ่นใหม่ ร่วมเสวนา
นายพิภพ กล่าวว่า สิ่งที่ควรเรียนรู้จากชีวิตและการทำงานของ นพ.เสม คือ ความนิ่ง ในทุกเรื่องที่ต้องเผชิญ และมีความกล้าหาญทางจริยธรรม โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงจุดยืน รวมทั้งใช้ธรรมมะในการสอนคน ซึ่งเชื่อว่า อีกร้อยปีต่อจากนี้ จะหาคนที่ยืนหยัดในความกล้าหาญ มีจุดยืนและความเสียสละ บนสังคมที่แปรเปลี่ยนอย่าง นพ.เสมได้ยาก
ขณะที่นพ.ดร.โกมาตร กล่าวว่า นพ.เสม ถือเป็นตำนานแพทย์ ที่แพทย์หลายคนเรียนรู้และได้แรงบันดาลใจจากประวัติการทำงานของท่าน หากได้ค้นคว้าเอกสารเรื่องราวของท่านจะพบว่า ท่าน ยืนหยัดทำงานเพื่อ ส่วนรวมเสมอ ไม่ว่าเรื่องเหล่านั้นจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม เพราะความสำเร็จหรือไม่นั้น ไม่สำคัญเท่าสิ่งที่ยืนหยัดทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
ด้านน.ส.รสนา กล่าวว่า นพ.เสม เป็นผู้มีอิทธิพลต่อวงการแพทย์ เคยลุกขึ้นมาขับเคลื่อนเรื่องกรณีทุจริตยา สมัยที่เกิดปัญหานักการเมืองแทรกแซงกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มและแรงบันดาลใจให้แพทย์และคนที่ติดตามการทำงานของท่าน ที่ยืนหยัดในความถูกต้องและเป็นแบบอย่างให้คนรุ่นหลังดำเนินรอยตามในการทำ งานเพี่อส่วนรวม
นพ.เสม   เป็นผู้ที่ให้อะไรกับสังคมเยอะมาก ถือว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีโอกาส มีคนดีๆ แต่ขาดวาสนา กลายเป็นสังคมที่เคารพยกย่องกรวดทราย เอาอย่างคนที่ไม่มีสาระ มีชีวิตเปลืองเปล่า ไม่ค่อยเรียนรู้จากบุคคลที่ทำประโยชน์ต่อสังคม การทำงานและการต่อสู้ของ นพ.เสม   ไม่เคยคำนึงถึงผลชนะหรือพ่ายแพ้ เพราะถือว่าอุปสรรคเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ แต่สังคมปัจจุบันคิดถึงแต่ความสำเร็จ อยู่ในกรอบมาตรฐานมากเกินไป ทั้งที่เป็นกรอบที่ไม่ให้ประโยชน์อะไรทั้งสิ้น ทำให้ นพ.เสมรู้สึกผิดหวังกับสังคมไทยพอสมควร
ส่วนนพ.ศุภชัย กล่าวว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้จาก นพ.เสม คือ แรงบันดาลใจ  ที่จะทำอะไรเพื่อสังคม เพราะหากคนๆ หนึ่งตั้งใจทำอะไรจริงก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้คนที่ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม เพื่อสังคมไม่จำเป็นต้องเรียนจบสูง แต่สามารถเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริงได้
“ในปัจจุบันบทบาท แพทย์ มีการตีกรอบ มีการถาโถมทางสื่อและการปกป้องสถาบันแพทย์อยู่มาก จนหลงลืมการเอาคนไข้เป็นศูนย์กลางและ ขาดการทำเพื่อส่วนรวม แต่หากยึดเอาแบบอย่างของ นพ.เสม จะพบว่าท่านมีความไร้ตัวตน ไม่ยึดอัตตา ให้ชาวบ้านเป็นหลักในการทำงาน ทั้งยังอดทนต่อเสียงนินทา ด่าทอ ซึ่งเหล่านี้เป็นแบบอย่างให้คนในสมัยนี้ได้”